ทำความรู้จักกับคาร์บอน
- Carbonoi
- 3 ก.ย. 2567
- ยาว 1 นาที
อัปเดตเมื่อ 14 ก.ย. 2567
คาร์บอนน้อย สวัสดีค่ะ
เข้าสู่ช่วงแนะนำตัวกันซักเล็กน้อย
ชีวิตของคาร์บอนแสนจะเรียบง่าย เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แต่ไม่ดับไป เวียนว่ายเปลี่ยนรูปร่างจับคู่ไปเรื่อย บางคนตั้งฉายาให้คาร์บอนว่าเป็น Element of Life เพราะเราอยู่ในทุกชีวิตไปจนถึงแบคทีเรีย เปลี่ยนรูปองค์ประกอบได้หมดทั้งในน้ำ อากาศ บนดิน
.
เวลาอยู่ในอากาศเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อยู่ในดินเป็นอินทรีย์คาร์บอน อยู่ในน้ำเป็นได้ทั้งเกลือคาร์บอเนต (เป็นกลาง) และกรดคาร์บอนิก (เป็นกรด) ขึ้นอยู่กับความสมดุลของคาร์บอน
.
มนุษย์หายใจเฮือกออกมาก็มีคาร์บอนแล้ว ในหนึ่งวัน มนุษย์หายใจมีคาร์บอนออกมา เฉลี่ยประมาณ 0.9 kg ต่อคน* คิดเป็นปริมาตร ~440-500 ลิตร เทียบเท่าลูกโป่งถึง 30-35 ลูกเลยนะ
.
ส่วนต้นไม้ หายใจเข้าเอาคาร์บอนเข้าไป หายใจออกปล่อยออกซิเจนออกมา ป่าไม้จึงเป็นขุมพลังช่วยรักษาคาร์บอนให้สมดุล
แต่ในวันนี้ที่ #คาร์บอนเยอะเกินไป! จากการผลิตและการใช้ชีวิตของมนุษย์ ทำให้คาร์บอนส่วนเกินไปติดแหง่กอยู่บนชั้นบรรยากาศโลกบ้าง ใต้มหาสมุทรอีกเพียบ ในปอดของใครหลายคนก็มี
.
เยอะขนาดไหน มองไปก็ไม่เห็น ไปยืนนับก็ไม่ได้ รู้แต่ว่าสิ่งมีชีวิตชักจะอยู่อาศัยลำบาก ในที่สุด มนุษย์ผู้ปล่อยมลพิษจึงรู้ตัวว่า ต้องเริ่มหาวิธี วัดปริมาณคาร์บอนและลดคาร์บอน ให้ได้มากที่สุด
.
พอเห็นตัวเลข สะดุ้งกันทุกทวีป
ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ บนชั้นบรรยากาศปี 2023 มีปริมาณทะลุ 419 ppm! สูงสุดทำสถิติใหม่ตั้งแต่เคยวัดมาในปี 1958 ซึ่งมีเพียง 315 ppm**
ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมความร้อนจากพระอาทิตย์ถึงอบอวลอยู่ในโลกมากขึ้น เพราะทะลุชั้นบรรยากาศหนาปึ๊กออกไปไม่ได้ยังไงหล่ะ
การลดคาร์บอนย่อมไม่มีทางเหลือศูนย์ แต่ขอแค่เหลือน้อยลงและเอาไปใช้ประโยชน์ต่อได้ เหมือนที่ต้นไม้เอาคาร์บอนไปผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสงแล้วกลายเป็นออกซิเจนให้กับเรา
.
เป้าหมายโลกจึงขอให้การปล่อยคาร์บอนและการดูดกลับคาร์บอนใกล้เคียงกันหรือเท่ากับศูนย์ (Net Zero)
เพียงเท่านี้ โลกเราก็จะกลับสู่สมดุลจ้ะ
-คาร์บอนน้อย-
ผู้รับบทนางเอกขับเคลื่อนโลกมาหลายร้อยล้านปี

—-----
อ้างอิง
หมายเหตุ
PPM ย่อมาจาก "parts per million" หน่วยการวัดความเข้มข้นที่ต่ำมากของบางสิ่งบางอย่าง เช่น ในมวลอากาศล้านส่วน มีคาร์บอนหนึ่งส่วน ความเข้มข้นของคาร์บอน จะเป็น 1 ppm หรือเรียกว่า "หนึ่งในล้าน" ก็ได้
Comments