ซีรีส์ Lost Crops พืชที่โลกกำลังสูญเสีย: EP.2 มะพร้าว
- Carbonoi
- 21 พ.ค.
- ยาว 1 นาที
อัปเดตเมื่อ 27 พ.ค.
EP.2 มะพร้าว
🥥 ลูกมะพร้าวหวานหอมชื่นใจ อาจจะกลายเป็นของหายากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อต้นมะพร้าวเครียดและให้ผลผลิตน้อยลง
มะพร้าวชอบอุณหภูมิประมาณ 27-32°C แต่ระยะหลังมานี้ อุณหภูมิพุ่งสูงขึ้นโดยเฉพาะในช่วงออกจั่นและติดผล อีกทั้งภัยแล้งทำให้ต้นขาดน้ำ ส่วนฝนตกหนักส่งผลให้รากเน่า อากาศร้อนชื้นมากขึ้น ยิ่งเอื้อต่อการแพร่ระบาด เช่น ด้วงแรดมะพร้าว โรคยอดดำ
ผลผลิตที่ไม่แน่นอน ทำให้ราคามะพร้าวผันผวน ชาวสวนต้องแบกรับความเสี่ยงสูงขึ้น กระทบไปถึงผู้ประกอบการหลายวงการ ทั้งเครื่องดื่ม กะทิ น้ำตาลมะพร้าว น้ำมันมะพร้าว เครื่องสำอาง
มีรายงานจาก Produce Report ระบุว่า ประเทศผู้ผลิตมะพร้าวรายสำคัญของโลก เช่น ไทย ศรีลังกา และฟิลิปปินส์ เจอราคามะพร้าวพุ่งสูงขึ้น 50–100% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
🇵🇭 ฟิลิปปินส์ถือเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตมะพร้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก แต่เผชิญกับพายุไต้ฝุ่นบ่อยครั้ง เช่น พายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน (Haiyan) ในปี 2013 ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 6,000 คน และทำลายต้นมะพร้าวนับล้านต้น ชาวสวนสูญเสียแหล่งรายได้ภายในพริบตา
แต่ในยุคนี้ เราเริ่มเห็นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาป้องกันความเสียหาย อย่างการพัฒนาพันธุ์มะพร้าวที่ทนแล้งทนน้ำ การติดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้า และระบบพยากรณ์อากาศที่แม่นยำ ให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ก่อนพายุเข้า
🇮🇩 อินโดนีเซีย ในเมืองยอกยาการ์ตาที่ผลิตน้ำตาลมะพร้าวจำนวนมาก มีธุรกิจเพื่อสังคมชื่อ Aliet Green กำลังส่งเสริมเกษตรกรท้องถิ่นให้ใช้เทคโนโลยีในสวน เช่น ระบบจัดการน้ำแบบ 3R (recharge-retain-reuse) ปลูกพืชชนิดอื่นแซมเพื่อป้องกันการพังทลายของดิน และ ปลูกมะพร้าวพันธุ์เตี้ยที่ผู้หญิงสามารถเก็บเกี่ยวได้สะดวกขึ้น ปัจจุบัน พวกเขาได้สนับสนุนเกษตรกรกว่า 1,500 รายซึ่ง 90% เป็นผู้หญิง และได้รับรางวัลมากมายจากเวทีระดับโลก เช่น UN Food System Summit
นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดการทำให้สวนมะพร้าวกลายเป็น “แหล่งดูดซับคาร์บอนในดิน” (carbon sink) ด้วยการจัดสวนอย่างเป็นระบบ ปลูกแบบวนเกษตรและใส่วัสดุคลุมดิน เช่น เศษใบไม้ แกลบ ขี้เลื่อย ที่จะย่อยสลายเป็นอินทรียวัตถุ เพิ่มคาร์บอนในดิน รักษาความชื้น ช่วยลดอุณหภูมิพื้นดิน ทำให้ต้นหยั่งรากลึกขึ้น ช่วยตรึงคาร์บอนได้มากในดิน และทนทานต่อสภาพอากาศแปรปรวน
มะพร้าวต้องไม่ใช่แค่ยืนต้นให้รอด แต่ต้องเปลี่ยนให้กลายเป็นต้นไม้ที่คืนสมดุลให้โลกด้วย
📍 ติดตาม ซีรีส์ “Lost Crops ตามหาพืชที่โลกกำลังสูญเสีย” กันต่อได้ในโพสต์หน้า
—-----------------
อ้างอิง
Comments